:: สาเหตุที่ตรัสชาดก ::
.....สมัยพุทธกาล ณ นครราชคฤห์ ธิดาเศรษฐีผู้หนึ่งเป็นผู้มีรูปร่างงดงาม แต่กลับไม่ยินดีในความงามนั้น เฝ้าขอบิดามารดาบวชเป็นภิกษุณีเสมอแต่ไม่ได้รับอนุญาต เมื่อเจริญวัยบิดามารดาจึงให้แต่งงานกับบุตรเศรษฐี
.....วันหนึ่งที่เมืองมีงานนักขัตกฤษ์ ชาวเมืองต่างแต่งกายสวยงาม แต่ธิดาเศรษฐีกลับแต่งกายเรียบๆ บอกเหตุกับสามีว่า เพราะมองเห็นความไม่งามของร่างกาย สามีจึงกล่าวว่า ทำไมเธอจึงไม่บวชเสียเล่า? นางได้ฟังก็ยินดี สามีจึงพาไปบวชเป็นพระภิกษุณีในสำนักของพระเทวทัต เมื่อบวชแล้วนางได้บำเพ็ญกิจของภิกษุณีอย่างเคร่งครัด โดยไม่รู้ตัวว่านางมีครรภ์ก่อนที่จะบวช เมื่อครรภ์ของนางโตขึ้น พระเทวทัตเกรงว่าตนจะเสื่อมเสียชื่อเสียงจึงสั่งให้นางสึก
.....นางคิดว่าตนบวชเพื่อถวายชีวิตแด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า มิใช่มาบวชเพื่อพระเทวทัต จึงเดินทางไปยังเชตวันมหาวิหารเพื่อเฝ้าพระบรมศาสดา พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยญาณว่า นางเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ แต่เพื่อคนทั่วไปได้ประจักษ์ จึงโปรดให้ตั้งกรรมการขึ้นพิจารณา นางวิสาขามหาอุบาสิกาได้ตรวจร่างกายและสอบสวนวัน เดือน ปีที่นางออกบวช ได้ความจริงว่า นางตั้งครรภ์ก่อนออกบวช นางจึงพ้นความผิด
.....ต่อมานางคลอดบุตรเป็นชายมีผิวพรรณผุดผ่อง พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงรับไปเลี้ยงไว้เป็นบุตรบุญธรรม ให้ชื่อว่า พระกุมารกัสสปะ ครั้นอายุได้ ๗ ขวบ ทราบชาติกำเนิดของตนเกิดความสลดใจ จึงออกบวช ตั้งใจปฏิบัติธรรมจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ผู้เลิศในการแสดงธรรมอันวิจิตร
.....นางภิกษุณีผู้เป็นมารดา นับแต่ลูกจากไปก็ได้แต่ร้องไห้คิดถึงลูกจนไม่มีใจปฏิบัติธรรม เช้าวันหนึ่งบังเอิญได้พบพระกุมารกัสสปะ จึงร้องเรียกชื่อพระลูกชาย พระกุมารกัสสปเถระทราบว่า ถ้าหากท่านพูดด้วยถ้อยคำอันไพเราะ มารดาจะตัดความอาลัยไม่ขาด จึงพูดให้สติว่า “ท่านเที่ยวทำอะไรอยู่นะ! เวลาผ่านมาตั้งนานแล้ว ความอาลัยอาวรณ์แค่นี้ก็ยังตัดไม่ได้” นางได้ยินก็เสียใจ คิดตัดอาลัย จึงตั้งใจปฏิบัติธรรม จนบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ พระภิกษุได้สนทนาถึงเหตุนี้ พระบรมศาสดาทรงทราบจึงตรัสเรื่อง นิโครธมิคชาดก ดังนี้
:: เนื้อเรื่อง ::
ในอดีตกาล ณ ป่าใหญ่แห่งหนึ่ง ใกล้กรุงพาราณสี เป็นที่ อาศัยของกวางฝูงใหญ่ ๒ ฝูง ฝูงละประมาณ ๕๐๐ ตัว แต่ละฝูงมีพญากวางเป็นหัวหน้าปกครอง พญากวางฝูงหนึ่งชื่อ นิโครธ
ส่วนพญากวางอีกฝูงหนึ่งชื่อ สาขะ พญากวางทั้ง ๒ นี้มีลักษณะงดงามต่างจากกวางอื่นๆ และปกครองบริวารของตนอยู่ไม่ห่างไกลกันนัก
ในครั้งนั้นพระราชาแห่งนครพาราณสีทรงโปรดเสวยเนื้อกวางทุกวัน จึเกณฑ์ ประชาชนทั้งหลายให้เข้าป่าล่ากวางกับพระองค์ด้วยทุกครั้ง
ทำให้ประชาชนไม่มีเวลาทำมาหากินเพราะต้องตามเสด็จอยู่เสมอจึงประชุมตกลงกันต้อนกวางมาไว้ในเขตพระราชอุทยาน เพื่อให้พระราชาเสด็จล่าได้โดยสะดวก
นับตั้งแต่นั้นมา พระราชาก็เสด็จไปยิงกวางในเขตอุทยานเสมอๆ โดยเสด็จตามลำพังเองบ้าง มีข้าราชบริพารตามเสด็จบ้าง บางครั้งก็โปรดให้พ่อครัวไปยิงมาทำอาหารถวาย
พระราชาออกตามหากวางจนกระทั่งได้มาพบพญากวางทั้งสอง เมื่อพระราชาได้ทอดพระเนตรเห็นพญากวางทั้งสองมีพระทัยเมตตาเป็นอย่างมาก ถึงกับประกาศมิให้ผู้ใดทำร้ายกวางทั้งสองนั้น แต่พระองค์ก็ยังคงล่ากวางอื่นๆ อยู่เสมอกวางทั้งหลายจึงมีความสะดุ้งกลัวอยู่ตลอดเวลา เพียงแค่เห็นธนูเท่านั้น ก็จะวิ่งกันชุลมุน เหยียบกันเองบ้างถูกยิงบาดเจ็บสาหัสบ้าง และบางส่วนก็ถึงแก่ความตาย
พญากวางทั้งสองทราบความเดือดร้อนของบริวารของตน จึงปรึกษาหาวิธีการ
ที่จะรักษาความสงบสุขของส่วนรวม
พญากวางนิโครธ กล่าวว่า
" เราควรผลัดกันส่งกวางเข้าเวรไปให้เขาวันละหนึ่งตัว วันหนึ่งเป็นกวางจากฝูกของข้าพเจ้า อีกวันหนึ่งเป็นกวางจากฝูงของท่าน "
พญากวางสาขะ จึงกล่าวว่า
" เป็นความคิดที่ดี ตกลงตามนี้ "
ตั้งแต่นั้นมา กวางบริวารทั้งหลายจึงไม่ต้องสะุดุ้งกลัวภัยตลอดเวลา จนกระทั่งวันหนึ่ง ก็ถึงเวรของนางกวางท้องแก่ นางจึงไปหาพญากวางสาขะ กล่าวว่า
" ได้โปรดให้กวางตัวอื่นเข้าเวรแทนฉันด้วยเถิด คอดว่าให้ชีวิตแก่ลูกในท้องที่กำลังจะเกิด เมือคลอดลูกเรียบร้อยแล้วฉันจะไปเข้าเวรเพื่อรับชะตากรรมทันที "
พญากวางสาขะ
" เจ้านี่ช่างกระไร จะให้ผู้อื่นเขามาตายแทนเจ้าได้อย่างไร ถึงเจ้ามีท้องมันก็เป็นเรื่องของเจ้าเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวกับใครเขานี่ "
นางกวางท้องแก่เสียใจมาก จึงวิ่งเตลิดไปยังฝูงของพญานิโครธ นางกวางได้เข้าพบพญานิโครธ และขอร้องให้พญานิโครธช่วยเหลือ
พญากวางนิโครธ ทราบเรื่องแล้ว จึงคิดว่า
" หากเราจะให้บริวารไปรับชะตากรรมนี้แทน ก็เท่ากับเร่งความตายให้เร็วขึ้น ชีวิตแม้ยืนยาวอีกเพียงวันเดียว ก็มีค่ายิ่งสำหรับเจ้าของชีวิต แต่ถ้าไม่ช่วยนาง นางก็จะต้องตายพร้อมกับลูกในท้อง ซึ่งไม่สมควรเลย "
พญากวางนิโครธ กล่าวกับ กวางท้องแก่ว่า
" เจ้าจงกลับไปพักผ่อนเถิด เรื่องของเจ้าเราจะจัดการให้เองไม่ต้องวิตกไปหรอก "
พญานิโครธยอมสละชีวิตของตนเอง โดยเอาหัววางบนเขียง รอพ่อครัวอยู่ที่โรงครัวในเขตพระราชวัง
ต่อมาพ่อครัวได้เดินเข้าไปในครัวเมื่อแรกเห็นคิดว่าเป็นกวางธรรมดาทั่วไป แต่เมื่อเห็นว่าเป็น พญากวางทอง ก็ตกใจรีบไปกราบทูนพระราชา พระราชาทราบเรื่องแล้วจึงมาที่โรงครัว กล่าวกับ พญากวางนิโครธว่า
" เราให้อภัยทานแก่เจ้าแล้วเหตุใดจึงมานานที่เขียงเช่นนี้เล่า "
พญากวางนิโครธกล่าวว่า
" ที่ข้าพเจ้ามานานรอความตายอยู่ที่นี่ ก็เพื่อมาเข้าเวรแทนนางกวางท้องแก่ตัวหนึ่ง เพื่อให้ลูกของนางที่กำลังจะคลอดในอีกไม่กี่วันนี้ ได้มีชีวิตรอบพระเจ้าข้า "
พระราชาคิดว่า
" พญากวางนิโครธ แม้เป็น สัตว์เดรัชฉาน ยังมีความเมตตากรุณาต่อผู้อื่นถึงเพียงนี้ แล้วเราเป็นคน เป็นถึงพระเจ้าแผ่นดิน กลับขาดความเมตตาเบียดเบียนผู้อื่น "
พระราชา ให้พญากวางนิโครธลุกขึ้น แล้วประกาศ ห้ามไม่ให้ฆ่ากวางทุกตัวในอาณาจักรแห่งกรุงพาราณสี ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นไป
พญากวางนิโครธ กล่าวว่า
" ขอเดชะใต้ฝ่าละลองพระบาท เป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น แต่ข้าพเจ้าอยากทูลขอพรจากพระองค์อีกประการศึ่งพระเจ้าข้า "
พระราชา
" ไหนว่ามาซิเจ้าจะขออะไรหรือ? "
พญากวางนิโครธ
" กวางทั้งหลายได้รับพระราชทานอภัย แต่สัตว์อื่นทั้งสี่เท้าสองเท้า หมู่นก และ หมู่ปลาในป่านี้ ก็เป็นเสมือนญาติ ขอพระองค์ได้โปรดอภัยชีวิตแก่สัตว์เหล่านั้นด้วยเถิด "
พระราชา
" กวางทองเอ๋ยเจ้าช่างมีเมตตาต่อสรรพสัตว์โดยไม่เลือกเผ่าพันธุ์ตกลงเราจะให้พรข้อนี้แก่เจ้า นับแต่นี้ต่อไป เราขอประกาศห้ามไม่ให้มี การล่าสัตว์ทุกชนิด ในอาณาจักรของเรา "
นับแต่นั้นเป็นต้นมา พระราชาทรงรักษาศีลห้า และปกครองให้ประชาชนตั้งอยู่ในศีลธรรมอันดีงามโดยตลอด
ต่อมาฝูงกวางได้เข้าไป กินข้าวของชาวนา ชาวนาเดือดร้อนกันมากจึงพากันไปกราบทูลต่อพระราชา พระองค์ตรัสว่า
" เราได้ให้อภัยแก่กวางทั้งหลายแล้ว ไม่อาจคืนคำได้ แม้เหตุนี้จะทำให้ต้องสูญเสียราชบัลลังก์ เราก็ยอมแต่เราจะไม่ยอมเสียสัจจวาจาเป็นอันขาด "
เมื่อพญากวางนิโครธทราบเรื่องจึงเรียกประชุมกวางทั้งหลาย
" ท่านทั้งหลายไม่ควรไปเที่ยวกินข้าวกล้าของพวกมนุษย์ แต่ควรจะเจียมเนีื้อเจียมตัวให้เขาเมตตาสงสารจึงจะถูก "
กวางทั้งหลายรับคำว่าจะไม่เที่ยวกินข้าวของมนุษย์อีก พญานิโครธจึงให้ชาวบ้านทำสัญลักษณ์ผูกใบไม้ไว้ในที่นา เพื่อให้เป็นที่สังเกตของกวางจะได้ไม่เผลอเข้าไปในที่นา หลังจากนั้นเป็นต้นมา ทั้งมนุษย์และกวาง ต่างดำเนินชีวิตไปตามวิถีทางของตนด้วยความสงบสุข
:: ข้อคิดจากชาดก ::
|
.......๑. ผู้ที่มีบุญ ย่อมมีปัญญามองเห็นสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง มองเห็นโทษของวัฏสงสารว่าเป็นทุกข์ แล้วหาทางที่จะออกจากทุกข์นั้น
.......๒. ผู้ที่มีความตั้งใจจะสร้างบุญบารมี ควรจะตัดความห่วงใยอาลัยรักทั้งหลายให้ได้ ถ้าตัดไม่ได้ จิตใจจะกังวล ไม่อาจบรรลุธรรมขั้นสูงได้
.......๓. บุตรควรมีความกตัญญูกตเวที คือ รู้คุณ และตอบแทนคุณ บิดามารดา
.......๔. ผู้นำที่ควรแก่การเคารพสรรเสริญนั้น นอกจากจะต้องมีความสามารถแล้ว ยังต้องมีคุณธรรมอีกด้วย
.......๕. ผู้ที่ถูกกล่าวหา จะต้องทำใจให้หนักแน่น ยึดมั่นในคุณความดี และอดทนเพื่อรอโอกาสพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนถือเสียว่า “มือไม่มีแผล ย่อมไม่กลัวพิษงู ทองบริสุทธิ์อยู่ ย่อมไม่กลัวไฟลน”
ที่มา : หนังสือนิทานชาดก โดย พระภาวนาวิริยคุณ www.kalyanamitra.org