ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี มีพราหมณ์คนหนึ่ง มีสมบัติ ๘๐ โกฏิ ไม่มีบุตร ได้สมาทานศีล แล้วอฐิษฐานปรารถนาบุตร พระโพธิสัตว์ได้มาบังเกิดในครรภ์นางพราหมณีภรรยาของพราหมณ์นั้น ในวันตั้งชื่อพระโพธิสัตว์ ญาติทั้งหลายได้ตั้งชื่อให้ว่า กัณหกุมาร เพราะมีผิวดำ กัณหกุมารนั้นเมื่อมีอายุได้ ๑๖ ปี มีรูปงดงามดังรูปที่ทำด้วยแก้วมณี บิดาส่งไปเรียนศิลปะในเมืองตักกศิลา ครั้นเรียนสำเร็จแล้วก็กลับมา ครั้งนั้นบิดาให้เขาแต่งงานกับภรรยาที่สมควรกัน กาลต่อมา เมื่อมารดาบิดาล่วงลับไปแล้ว เขาได้เป็นใหญ่ ปกครองทรัพย์สมบัติทั้งหมด
อยู่มาวันหนึ่ง กัณหกุมารได้ตรวจตราเรือนคลังรัตนะทั้งหลาย แล้วขึ้นนั่งท่ามกลางบัลลังก์ ให้นำบัญชีที่เป็นแผ่นทองมา เห็นอักษรที่ญาติก่อนๆ จดจารึกไว้ในแผ่นทองว่า ทรัพย์เท่านี้ ญาติคนโน้นทำให้เกิดขึ้น ทรัพย์เท่านี้ญาติคนโน้นทำให้เกิดขึ้น จึงคิดว่า ผู้ที่ทำทรัพย์นี้ให้เกิดขึ้นไม่ปรากฏ ตายไปหมดแล้ว ปรากฏอยู่แต่ทรัพย์อย่างเดียว ผู้ที่ถือเอาทรัพย์นี้ไปด้วย แม้คนหนึ่งก็ไม่มี ความจริงไม่มีใครอาจขนเอาห่อทรัพย์ติดไปปรโลกได้เลย ทรัพย์เป็นของไม่มีสาระ เพราะจะต้องสูญไปด้วยภัย ๕ ประการ คือ ราชภัย โจรภัย อัคคีภัย อุทกภัย อัปปิยทายาทภัย * การให้ทรัพย์เป็นทานเป็นสาระ ร่างกายไม่เป็นสาระ เพราะจะต้องเดือดร้อนด้วยโรคมากมาย คนทำความดี เช่น กราบไหว้ท่านผู้มีศีลเป็นต้น เป็นสาระ ชีวิตไม่เป็นสาระ เพราะไม่เที่ยงแท้แน่นอน การประกอบความเพียรเจริญวิปัสสนาด้วยสามารถไตรลักษณ์ เป็นสาระ เพราะฉะนั้น เราจะให้ทาน เพื่อถือเอาสาระจากโภคะที่ไม่เป็นสาระ
* ภัยเกิดจากทายาทที่ไม่มีความสามารถ
คิดดังนี้แล้ว จึงลุกออกจากอาสนะไปเฝ้าพระราชา แล้วถวายบังคมลาพระราชา ออกมาบำเพ็ญทานเป็นการใหญ่ เมื่อบำเพ็ญทานได้ ๗ วัน เขาเห็นทรัพย์ไม่ได้หมดสิ้นไป จึงคิดว่า ประโยชน์อะไรด้วยทรัพย์สำหรับ เรา ขณะที่ยังไม่ถูกชราครอบงำนี้ เราจะบวชทำอภิญญาและสมาบัติให้เกิด แล้วจะมีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า
คิดดังนี้แล้วก็ให้เปิดประตูเรือนทุกประตู ประกาศว่า สิ่งของทั้งหมดเราได้ให้แล้ว ผู้มีความต้องการจงนำไปเถิด เขาเกลียดชังสมบัติเหมือนของโสโครก ละวัตถุกามเสีย แล้วเขาได้ออกจากเมือง เข้าหิมวันตประเทศบวชเป็นฤๅษี เที่ยวแลดูภูมิภาคที่น่ารื่นรมย์เพื่อเป็นที่อยู่ของตน ได้มาถึงที่ที่ตถาคตยืนอยู่ตรงนี้ คิดว่า เราจะอยู่ในที่นี้ ดังนี้แล้วจึงอธิษฐานเอาต้นอินทวารุณพฤกษ์ต้นหนึ่งเป็นที่อยู่ที่กิน อยู่ ณ โคนต้นไม้นั้น ได้ละเสนาสนะภายในบ้านเสีย ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ไม่สร้างบรรณศาลา ถือการอยู่โคนต้นไม้เป็นวัตรบ้าง ถือการอยู่ที่แจ้งเป็นวัตรบ้าง ถือการไม่นอนเป็นวัตรบ้าง ถ้าจะนอนก็นอนบนพื้นดินเท่านั้น ถือการใช้ฟันเป็นดังสาก ใช้ฟันเคี้ยวอย่างเดียว เคี้ยวกินแต่ของที่ไม่สุกด้วยไฟ ไม่เคี้ยวกินของอะไรๆ ที่มีแกลบหุ้ม บริโภคอาหารวันละครั้งเท่านั้น ยับยั้งอยู่เหนือแผ่นดิน ทำตนเสมอด้วย ดิน น้ำ ไฟ ลม สมาทานธุดงคคุณมีประมาณเท่านี้อยู่ ได้ยินว่า ในชาดกนี้ พระ โพธิสัตว์เป็นผู้มักน้อยอย่างยิ่ง
ต่อมาไม่นานนักท่านก็ได้อภิญญาและสมาบัติ เล่นฌานเพลิดเพลินอยู่ ณ ที่นั้น แม้ต้องการผลาหารก็ไม่ไปที่อื่น เมื่อต้นไม้ผลิผลก็กินผล เมื่อผลิดอกก็กินดอก เมื่อมีใบก็กินใบ เมื่อใบไม้ไม่มีกินก็กินสะเก็ดไม้ ท่านเป็นผู้สันโดษอย่างยิ่งถึงเพียงนี้ อยู่ในสถานที่นี้นาน
เวลาเช้าวันหนึ่งท่านเก็บผลไม้สุก เมื่อจะเก็บก็ไม่ได้มีความโลภเที่ยวเก็บในที่อื่น คงนั่งอยู่ที่เดิมนั่นแหละ เหยียดมือไปเก็บผลไม้ที่อยู่ในรัศมีพอมือถึง บรรดาผลไม้เหล่านั้น ท่านก็ไม่ได้เลือกว่าชอบใจหรือไม่ชอบใจ แล้วแต่ถึงมือก็เก็บเอามา ด้วยเดชแห่งศีลของท่านซึ่งสันโดษอย่างยิ่งเพียงนี้ ปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ของท้าวสักกเทวราชได้แสดงอา การร้อนผิดปกติ
ได้ยินว่า อาสนะนั้นจะร้อนขึ้นด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ ๑.ท้าวสักกะสิ้นอายุ ๒.จะสิ้นบุญ ๓.มีสัตว์ผู้มีอานุภาพใหญ่อื่นปรารถนาที่นั้น ๔.ด้วยเดชศีลของสมณพราหมณ์ที่มีฤทธิ์มากตั้งอยู่ในธรรม
ท้าวสักกเทวราชทรงรำพึงว่า ใครหนอที่ประสงค์จะให้เราเคลื่อนจากที่ แล้วได้ทอดพระเนตรเห็นกัณหฤๅษีกำลังเก็บผลไม้อยู่ในประเทศนี้ จึงทรงดำริว่า พระฤๅษีนี้มีตบะกล้า ชนะอินทรีย์แล้วอย่างยิ่ง เราจักให้บันลือสีหนาทด้วยธรรมกถา ได้ฟังเหตุดีแล้วจะบำรุงให้อิ่มหนำด้วยพร ทำต้นไม้ให้มีผลเป็นนิจสำหรับพระฤๅษีนี้แล้วจะมา ครั้นทรงดำริดังนี้แล้ว ก็เสด็จลงมาโดยเร็วด้วยอานุภาพใหญ่ ประทับยืนอยู่ที่โคนต้นไม้ ข้างหลังพระฤๅษี เมื่อจะทดลองดูว่า เมื่อเรากล่าวโทษขึ้นแล้ว ท่านจักโกรธหรือไม่ จึงตรัสว่า:
บุรุษนี้ดำจริงหนอ บริโภคโภชนะก็ดำ อยู่ในภูมิประเทศก็ดำ ไม่เป็นที่ชอบใจของเราเลย
กัณหฤๅษีได้ฟังคำของท้าวสักกะแล้ว พิจารณาดูด้วยทิพยจักษุว่า ใครหนอมาพูดกับเรา รู้ว่าเป็นท้าวสักกะ จึงกล่าวโดยไม่แลดูเลยว่า:
คนไม่ชื่อว่าเป็นคนดำเพราะผิวหนัง เพราะคนที่มีแก่นภายในจึงชื่อว่าเป็น
พราหมณ์ ผู้ใดมีบาปกรรม ผู้นั้นแหละชื่อว่าเป็นคนดำนะท้าวสุชัมบดี
ครั้นพระฤๅษีกล่าวอย่างนี้แล้ว จึงจำแนกประเภทบาปกรรมที่ทำให้สัตว์เหล่านี้เป็นคนดำโดยพิสดาร ติเตียนบาปเหล่านั้นแม้ทั้งหมด สรรเสริญคุณมีศีลเป็นต้น แสดงธรรมแก่ท้าวสักกะ ประดุจว่าให้ดวงจันทร์ตั้งขึ้นในอากาศ ท้าวสักกะทรงสดับธรรมกถาของกัณหฤๅษีแล้ว มีความเบิกบาน เกิดความโสมนัส เมื่อจะนิมนต์พระมหาสัตว์ด้วยพร ได้ตรัสว่า:
ดูกรท่านพราหมณ์ คำนั้นท่านกล่าวดีแล้ว สมควรเป็นสุภาษิต ข้าพเจ้าจะให้พรแก่ท่านอย่างหนึ่ง ตามแต่ใจท่านปรารถนา
พระมหาโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้นแล้ว คิดว่า ท้าวสักกะนี้เมื่อจะทดลองเราว่า เมื่อถูกกล่าวโทษของตนจะโกรธหรือไม่หนอ ? ได้แสร้งติเตียนฉวีวรรณ โภชนะ และที่อยู่ของเรา บัดนี้รู้ว่าเราไม่โกรธ จึงมีจิตเลื่อมใส แล้วให้พร เธอคงสำคัญเราว่าประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อความเป็นใหญ่ ชั้นท้าวสักกะชั้นพรหมเป็นแน่ เราจะตัดความสงสัยของท้าวสักกะในเรื่องนั้นเสีย ควรจะรับพร ๔ ประการเหล่านี้ คืออย่าให้ความโกรธต่อผู้อื่นเกิดขึ้นแก่เรา ๑ อย่าให้โทสะต่อผู้อื่นเกิดขึ้นแก่เรา ๑ อย่าให้ความโลภในสมบัติของผู้อื่นเกิดขึ้นแก่เรา ๑ อย่าให้สิเนหาในผู้อื่นเกิดขึ้น ๑ เราพึงเป็นกลางอยู่เท่านั้น ๑ คิดดังนี้แล้ว เมื่อจะรับพร ๔ ประการ เพื่อจะตัดความสงสัยของท้าวสักกะ จึงกล่าวว่า:
ข้าแต่ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าภูตทั้งปวง ถ้าจะโปรดประทานพรแก่
ข้าพระองค์ ข้าพระองค์ปรารถนาให้ความประพฤติของตน อย่าให้มีความโกรธ อย่าให้มีโทสะ อย่าให้มีความโลภ อย่าให้มีความสิเนหาขอได้ทรงโปรดประทานพร ๔ ประการนี้แก่ข้าพระองค์เถิด
ถามว่า ก็พระมหาโพธิสัตว์ไม่ทราบหรือว่า ใครๆ ไม่อาจรับพรของท้าวสักกะ แล้วขจัดความโกรธเป็นต้นได้ด้วยพร
ตอบว่า ที่จะไม่ทราบนั้นหาไม่ได้ แต่ที่รับพรเพราะคิดว่า เมื่อท้าวสักกะประทานพร การพูดว่า ข้าพเจ้าไม่รับไม่สมควร และเพื่อจะตัดความสงสัยของท้าวสักกะนั้น จึงรับพร
ที่มา : http://group.wunjun.com/leavesofeden/topic/136552-3325