พระมหาสัตว์ ครั้นแสดงมงคลที่ ๑ ดังนี้แล้ว เมื่อจะแสดง มงคลที่ ๒ เป็นต้น จึงกล่าวคาถาทั้งหลายเหล่านี้ว่า:
[๑๔๗๕] ผู้ใดประพฤติถ่อมตนแก่สัตว์โลกทั้งปวง แก่หญิงและชาย พร้อมทั้งเด็ก
เป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำชั่วร้าย ไม่กล่าวลำเลิกถึงเรื่องเก่าๆ บัณฑิต
ทั้งหลายกล่าวความอดกลั้น ของผู้นั้นว่า เป็นสวัสดิมงคล.
[๑๔๗๖] ผู้ใดเป็นผู้มีปัญญาดี มีความรู้ปรุโปร่งในเมื่อเหตุเกิดขึ้น ไม่ดูหมิ่น
มิตรสหายทั้งหลายด้วย ศิลป สกุล ทรัพย์ และด้วยชาติ บัณฑิต
ทั้งหลายกล่าวการไม่ดูหมิ่นสหายของผู้นั้นว่า เป็นสวัสดิมงคลในสหาย
ทั้งหลาย
[๑๔๗๗] สัตบุรุษทั้งหลายเป็นผู้ชอบพอคุ้นเคยกัน เป็นมิตรแท้ของผู้ใด ผู้มีคำพูด
มั่นคง อนึ่ง ผู้ใดเป็นผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร แบ่งปันทรัพย์ของตน ให้
แก่มิตร บัณฑิตทั้งหลายกล่าวการได้ประโยชน์เพราะอาศัยมิตร และการ
แบ่งปันของผู้นั้นว่า เป็นความสวัสดิมงคลในมิตรทั้งหลาย.
[๑๔๗๘] ภรรยาของผู้ใดมีวัยเสมอกัน อยู่รวมกันด้วยความปรองดอง ประพฤติ
ตามใจกัน เป็นคนใคร่ธรรม ไม่เป็นหญิงหมัน มีศีลโดยสมควรแก่สกุล
รู้จักปรนนิบัติสามี บัณฑิตทั้งหลาย กล่าวคุณความดีในภรรยาของผู้นั้น
ว่าเป็นสวัสดิมงคลในภรรยาทั้งหลาย.
[๑๔๗๙] พระราชาเป็นเจ้าแผ่นดิน ทรงพระอิศริยยศใหญ่ ทรงทราบความสะอาด
และความขยันหมั่นเพียรของราชเสวกคนใด และทรงทราบราชเสวก
คนใด ด้วยความเป็นผู้ไม่ร้าวรานกับพระองค์ และทรงทราบราชเสวก
คนใดว่ามีใจจงรักภักดีต่อเรา บัณฑิตทั้งหลายกล่าวคุณความดีของราช
เสวกนั้นๆ ว่าเป็นสวัสดิมงคล ในพระราชาทั้งหลาย.
[๑๔๘๐] บุคคลใดมีศรัทธาให้ข้าวน้ำ ให้ดอกไม้ของหอม และเครื่องลูบไล้ มีจิต
เลื่อมใสอนุโมทนา บัณฑิตทั้งหลายกล่าวคุณข้อนั้นของบุคคลนั้นแล
ว่าเป็นความสวัสดีในสวรรค์ทั้งหลาย
[๑๔๘๑] สัตบุรุษทั้งหลายผู้รู้แจ้งด้วยญาณ ผู้ยินดีแล้ว ในสัมมาปฏิบัติ เป็น
พหูสูต แสวงหาคุณ เป็นผู้มีศีล ยังบุคคลใดให้บริสุทธิ์ด้วยอริยธรรม
บัณฑิตทั้งหลายยกย่องคุณความดีของสัตบุรุษนั้น ว่าเป็นความสวัสดีใน
ท่ามกลางพระอรหันต์.
พระมหาสัตว์ถือเอายอดแห่งเทศนาด้วยพระอรหัต แสดงมงคล แปดด้วยคาถา ๘ คาถาอย่างนี้แล้ว เมื่อจะสรรเสริญมงคลเหล่านั้น จึง กล่าวคาถาสุดท้ายว่า:
[๑๔๘๒] ความสวัสดีเหล่านี้แล ผู้รู้สรรเสริญแล้ว มีสุขเป็นผลกำไรในโลก นรชน
ผู้มีปัญญา พึงเสพความสวัสดีเหล่านั้นไว้ในโลกนี้ ก็ในมงคลมีประเภท
คือ ทิฏฐมงคล สุตมงคล และมุตมงคล มงคลสักนิดหนึ่งที่จะเป็น
มงคลจริงๆ ไม่มีเลย.
พระฤๅษีทั้งหลายสดับมงคลเหล่านั้นแล้ว พอล่วงไปได้ ๗ - ๘ วัน ก็พากันลาอาจารย์ไปในพระราชอุทยานนั้น พระราชาเสด็จไปสำนักพระฤๅษีเหล่านั้น แล้วถามปัญหา พระฤๅษีทั้งหลายได้กล่าวแก้มงคลปัญหา ตามทำนองที่อาจารย์บอกมาแด่พระราชา แล้วมาดินแดนหิมพานต์ ตั้งแต่นั้นมามงคลได้ปรากฏในโลก ผู้ที่ประพฤติในข้อมงคลทั้งหลาย ตายไปได้เกิดในสวรรค์ พระโพธิสัตว์เจริญพรหมวิหาร ๔ พาหมู่ฤๅษีไปเกิดในพรหมโลก.
พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่เรากล่าวแก้มงคลปัญหา แม้ในกาลก่อน เราก็กล่าวแก้มงคลปัญหามาแล้ว ดังนี้ แล้วทรงประชุมชาดกว่า หมู่ฤๅษีในครั้งนั้น ได้มาเป็นพุทธบริษัทในบัดนี้ อันเตวาสิกผู้ใหญ่ผู้ถามมงคลปัญหาในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระสารีบุตร ในบัดนี้ ส่วนอาจารย์ในครั้งนั้น ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล